เราทำบล็อกนี้ขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การวิจารณ์งานศิลปะตามทฤษฎีทางสุนทรีย์ศาสตร์ 4 หลัก

          by สมองบวม


วิจารณ์งาน ภาพเขียน  คนกินมัน The Potato Eater ”           



การวิจารณ์งานภาพศิลปะผ่านทฤษฎีทางศิลปะ
ทฤษฎีการเลียนแบบ…………………………………กับภาพเขียนคนกินมัน The Potato Eater
ทฤษฎีรูปทรง………………………………………...กับภาพเขียนคนกินมัน The Potato Eater
ทฤษฎีการแสดงออกซึ่งความรู้สึก…………………...กับภาพเขียนคนกินมัน The Potato Eater
ทฤษฎีคือความคิด…………………………………...กับภาพเขียนคนกินมัน The Potato Eater
จากการแสวงหาคำตอบจากคำถามที่ว่า ศิลปะคืออะไร? หรือ อะไรคือศิลปะ? ได้นำมาซึ่ง
ทฤษฎีทางศิลปะอันต่างกัน คือ จากความเชื่อของศิลปินและนักสุนทรียศาสตร์บางกลุ่มที่เชื่อว่า
ศิลปะคือสิ่งแทนหรือจำลองแบบวัตถุ เหตุการณ์ หรือบุคคล แต่บางกลุ่มเชื่อว่า ความหมายของ
ศิลปะนั้นก็คือการจัดองค์ประกอบของศิลปะคือการแสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์เท่านั้นเอง
นอกจากนี้บางกลุ่มกลับเชื่อว่าศิลปะคือการแสดงออกซึ่งความคิด ที่นำมาซึ่งการกระตุกกระชากอารมณ์
ของผู้อื่นอย่างเฉียบพลัน ( ข้อความบางส่วนจากหนังสือสุนทรียศาสตร์ในทัศนศิลป์ของ รศ.ดร.ศุภชัย สิงยบุศย์)


“ภาพเขียน คนกินมัน The Potato Eater ปี ค.ศ.1880 ”
เป็นลักษณะการทำงานในยุคแรกของเขาคือ ยุค ( Dutch Period ) มีลักษณะแน่น สีหม่นหมองมีการแสดงออกไปในทางลัทธิเรียลลิสต์ มีแนวโน้มไปในทางมนุษยธรรม เห็นอกเห็นใจคนจน ต้องการสะท้อนภาพชีวิตที่ยากไร้ เป็นช่วงเริ่มต้นในวงการศิลปะอย่างเต็มตัวที่เมืองบอริเนจ เขาวาดภาพอย่างหนัก ภายใต้หมอกควันอันแสนสกปรกของเหมืองถ่านหิน ภายในกระท่อมอันผุพังของเหล่ากรรมกรผู้ยากไร้ สะท้อนภาพชีวิตที่ขัดสน ภาพ “คนกินมัน” ซึ่งเป็นผลงานชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นถึงอาหารของคนงานเหล่านั้น คือ มันฝรั่งต้มอาหารเช้า กลางวัน และเย็น ทุกวัน เดือน ปี แวนโก๊ะรับเอาอิทธิพลความสะเทือนใจต่อสภาพความเป็นอยู่ของคนกลุ่มนี้และแสดงออกของกลุ่มเรียลลิสต์ ซึ่งนิยมกันมากในยุคนั้น






.....................................................................การวิจารณ์ผ่านทฤษฎีการเลียนแบบ

การแสดงออกของทฤษฎีการเลียนแบบที่มีต่อภาพนี้คือ ภาพชีวิตความเป็นอยู่ ของกรรมกรเหมือง การใช้ชีวิตแต่ละวันของการกินมันฝรั่งซ้ำแล้วซ้ำเหล่าทุกวัน ความจริงของคนเหล่านั้นที่แสนขัดสน ในงานใช้สีหม่นหมองทำให้ภาพอึดอัดเป็นอย่างมาก บรรยากาศโดยรวมในภาพบีบคั้นอารมณ์ความรู้สึกว่าชีวิตกรรมกรเหมืองเหล่านี้น่าสงสารเพียงใด ต้องจำนนต่อสภาพที่ตนเป็นอย่างหลีกหนีไม่ได้ต้องใช้ชีวิตด้วยการรอความหวังไปเรื่อยไม่จบสิ้น ทั้งอารมณ์ของตัวละครในรูปแสดงออกต่อกันด้วยความอาทร แววตาที่ยอมต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีข้อยกเว้นแก่คนกลุ่มนี้ ตะเกียงเพียงอันเดียว มีไฟพอที่จะให้รู้สึกถึงความหวังที่น้อยนิดเหลือเกิน บ้างก็อยากจะหลุดพ้น ภาระมากมายที่ผูกพันกับชีวิตพวกเขา แต่อีกมุมนึงกลับรู้สึกถึงความอบอุ่นที่ผู้คนเหล่านี้มีให้กัน มองได้จากสายตาของกรรมกรเหมืองพวกนี้ การแบ่งปัน ความไม่เรื่องมากมีเท่าไหร่ก็กินเท่านั้น
การแสดงออกของการเลียนแบบหลักๆของรูปนี้เป็นการเน้นการลอกสีของบรรยากาศสภาพแวดล้อม สภาพความเป็นอยู่ของคนเหมือง การใช้พู่กันปาดป้ายไปโดยที่ไม่เกี่ยเนียนแสดงออกถึงความหยาบกระด้างของผิวหนัง


..........................................................................การวิจารณ์ผ่านทฤษฎีรูปทรง

รูปทรงในงานทัศนศิลป์คือ การผสานรวมตัวกันของ เส้น สี แสง เงา รูปร่าง รูปทรง และพื้นผิว
สำหรับรูปนี้เด่นในการใช้รูปทรงของสิ่งมีชีวิต คือ คน และรองลงมาเป็นรูปทรงของสิ่งไม่มีชีวิต คือ สิ่งของ
ตัวคนเองมีรูปร่างรูปทรงอิสระมากแต่การเน้นเส้น สี ให้ทึบและหนานี่เอง ทำให้ภาพนี้ตัวคนมีความหยาบของผิวหนัง ซ้ำสีของผิวหนังที่ปาดลงไปเป็น ทีแปรงหยาบๆ ยิ่งตอกย้ำให้รูปนี้ดูหยาบกร้านมากขึ้น
ส่วนมันฝรั่ง และ ข้าวของเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ ถ้วย จาน ถ้วยชา กาน้ำร้อนอื่นๆเขียนออกมาได้ไม่มีชีวิตจริงๆ
เรื่องราวของทฤษฎีนี้เนื้อหาหาสำคัญไม่ การจะซาบซึ้งถึงทฤษฎีนี้ได้นั้นคือ อารมณ์ที่จะต้องเข้าไปสู่โลกอีกโลกนึง ต้องตัดขาดจากโลกภายนอก ดังคำกล่าวของ คลีพ เบลล์ คือ การซาบซึ้งศิลปะไม่จำเป็นต้องอาศัยสิ่งอื่นใดจากชีวิตเราไม่ต้องการความรู้ ความคิด หรือเรื่องราวของชีวิตและไม่มีความเกี่ยวข้องกับอารมณ์ของชีวิต ศิลปะได้พาเราจากโลกแห่งกิจกรรมของมนุษย์สู่โลกของสุนทรียอันสูงสุด

....................................................การวิจารณ์ผ่านทฤษฎีการแสดงออกซึ่งความรู้สึก

อารมณ์ความรู้สึกเป้าหมายในการแสดงออกของความรู้สึก การแสดงออกซึ่งความรู้สึกของศิลปิน ที่มีเป้าหมายแน่นอน คือ การปลุกความรู้สึกแก่ผู้รับให้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับศิลปิน
ศิลปินมีความรู้สึก แสดงความรู้สึกผ่านผลงานศิลปะ ผู้เสพเกิดความรู้สึกจากผลงานศิลปะเหมือนความรู้สึกที่มีในตัวศิลปิน(ตอลสตอย)
สำหรับรูปนี้ศิลปินเองได้เลือกใช้โทนสี หม่นหมอง ให้กับสภาพแวดล้อมของงาน และใช้สีที่ด้านดิบให้แก่เสื้อผ้าและหน้าตาของตัวละครที่หยาบกร้านแห้งแล้ง มีแววตานิดหน่อยพอให้รู้สึกถึงความหวังที่ซ่อนลึกในจิตใจของกรรมกรเหมือง ทั้งหมดทั้งมวลนี้เองก็ได้ผสานกันก่อให้เกิดอารมณ์ ความรู้สึก สะเทือนใจต่อคนที่ดูงาน โดยอารมณ์เศร้าหมอง อึดอัด ความหวังที่ริบหรี่ ความยากจนยากไร้ การที่ต้องจำนนต่อสภาพการณ์ของตนเอง ความรู้สึกเหล่านี้ได้ถูกอัดแน่นอยู่ภายในงานนี้แล้วแต่ใครจะพรรณณาภาพนี้ไปได้อีก

.................................................................................การวิจารณ์ผ่านทฤษฎีคือความคิด

ลักษณะของงานกลุ่มทฤษฎีนี้คือการกระแทก กระตุก กระชาก ขยี้ความรู้สึกของผู้รับรู้อย่างฉับพลันและปริมาณคุณค่าของงานดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับสัดส่วนในปริมาณการกระชากความรู้สึกคนดูที่คาดไม่ถึง
ซึ่งไม่ใช่การแสดงออกซึ่งความรู้สึกธรรมดาอย่างทฤษฎีทั้งสามที่กล่าวมาข้างต้น เพราะการทำงานของกลุ่มนี้ไม่มีลักษณะรูปแบบศิลปะที่ชัดเจนตายตัวอย่างศิลปะทั่วไป หากแต่ศิลปินจะสามารถใช้ลักษณะรูปแบบที่หลากหลายรวมทั้งการผสมผสานข้ามผ่านสื่อศิลปะ และการพลิกผันสัดส่วนและขนาดอย่างคาดไม่ถึงซึ่งทั้งหมดทั้งสิ้นคือการใช้ความคิดอย่างเข้มข้นของศิลปิน และเมื่องานดังกล่าวปรากฏออกมา สิ่งที่สาธารณะชนจะพึงคาดหวังจากงานคือปรากฏการณ์ด้านความคิดที่ไม่คาดว่าจะมีโอกาสได้ประสบ
และในผลงานชิ้นที่หยิบยกมานี้ไม่ได้มีความแปลกใหม่ทางด้านรูปแบบ วิธีการจัดการ เทคนิค จึงทำให้ภาพนี้ล้มเหลวในทฤษฎี


อย่างไรก็ตามคำวิจารณ์และผลตอบรับของผู้ชื่นชมงานศิลปะก็มีความจำเป็นอย่างมากต่อวงการศิลปะเพราะช่วยสร้างความเข้าใจในงานให้แก่ผู้ชมนอกแวดวงมากขึ้นหรือกระทั่งศิลปินเองอาจจะคาดไม่ถึงต่อคำวิจารณ์ก็เป็นได้ ทั้งนี้ยังช่วยให้ศิลปินเองนำไปปรับปรุงแก้ไขในข้อคิดเห็นของนักวิจารณ์ ทั้งที่ดีและไม่ดี สุดท้ายผู้วิจารณ์เองก็ควรเปิดกว้างเรื่องทัศนคติ ไม่เอาความชอบส่วนตัวมาวิจารณ์ควรวิจารณ์อย่างเป็นกลางเสมอ



บทความนี้เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของข้าพเจ้าเท่านั้นไม่มีเจตนาจะกล่าวหาบุคคลหรือกลุ่มงานใดๆถ้าผิดพลาดประการใดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น