เราทำบล็อกนี้ขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

แนะนำตัว


    บทความแนะนำตัว


นาย อดิเทพ  มีชัยเจริญยิ่ง







“ การเดินทางของนักเรียนสู่การเป็นนิสิตศิลปกรรมศาสตร์ ”
By สมองบวม
                บรรยากาศช่วงส่งงาน  Final ที่ครุกกร่นไปด้วย ความท้อ ความกดดัน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีความสุขเล็กๆเกิดขึ้นภายในใจ กระทั่ง  Entrance  มาเพื่อศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ท้ายที่สุดก็ได้ลือกเดินบนถนนสายศิลปกรรม

                ข้าพเจ้า มีนามว่า  นาย อดิเทพ มีชัยเจริญยิ่ง เกิดที่ นครอุดรธานี มีอายุอยู่บนโลกนี้ได้ก็ 21 ปีแล้วผมเกิดมาบนหนทางของครอบครัว พ่อค้าแม่ค้า หาเช้ากินค่ำไปวันๆ ใช้ชีวิตลำบากมาตั้งแต่ยังเยาว์วัยแต่ก็ไม่ถึงขั้นอัตคัด กระผมเองไม่ค่อยมีเพื่อนสักเท่าไหร่เนื่องจากวันๆก็จะอยู่ช่วยแม่ขายของทุกวัน เลิกเรียนเสร็จก็จะไปช่วยแม่เสมอทุกเย็น ทำแบบนี้มาตลอดจนเรียนจบชั้น ม.3 อย่างไรก็ตามผมก็ชอบที่จะเป็นอย่างนั้น จนอยู่มาวันนึงร้านขายของของแม่และป้าโดนทางเทศบาลไล่ที่ ซ้ำช่วงนั้นแม่ของกระผมได้ตั้งครรภ์น้องคนเล็กขึ้น ถึงกระนั้นยังไม่พอป้าชวนแม่ไปขายของด้วยกัน แต่แม่ก็ปฏิเสธป้าไป เนื่องมาจากเรื่องราวในอดีตมากมายที่ทางผู้ใหญ่ทั้งสองท่านไม่ลงลอยกันแต่ก็ยังคงอาศัยพื้นที่หากินเดียวกันมีการกระแทกกันบ่อยครั้งจนมาถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นปัญหาที่ยังไม่ถูกสะสาง สุดท้ายแม่ก็ต้องหยุดขายของตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ครอบครัวของผมก็มีปัญหาเข้ามาทุกวัน ผมเริ่มคิดว่า “ บ้านมันไม่น่าอยู่เอาสะเลย ” แต่นี่ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไรมากมายนัก

ปี1

                ตอนนี้เองผมเรียนที่ ปวช. ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี แผนก ศิลปกรรม เวลาก็ล่วงเลยจนกระทั่งผมเรียนอยู่ ปวช.3 ซึ่งเวลานี้เองเป็นเวลาของการส่งงาน Final  เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่งานมารวมตัวกันโดยมิได้นัดหมาย “ คือมันเยอะจริงๆ ” ไม่ว่าจะเป็นงานจิตกรรมไทย จิตกรรมสากล ปั้น งานคอมพิวเตอร์ งานเขียนแบบอีกมากที่ยังไม่ถูกจัดการเหลือเวลาไม่นานก็จะจบการศึกษา และที่ที่เดียวที่ดูเหมือนจะสามารถให้เราอยู่ทำงานได้ตลอด (ห้องคุ้ม) ถูกปิดไปเพราะการทำงานนอกเวลาราชการของนักเรียนศิลปะ ผู้อำนวยการสถานศึกษาจึงสั่งห้ามให้นักเรียนอยุ่ใน วิทยาลัยเกิน2ทุ่ม นอกจากมีความจำเป็นที่จะต้องอยู่ช่วยงานอาจารย์หรือทำกิจกรรมให้กับวิทยาลัยเท่านั้น เป็นเหตุให้กลุ่มของข้าพเจ้าเดือดร้อนเป็นอย่างมากต้องหาพื้นที่ใหม่ในการทำงาน ซึ่งก็หาได้ไม่นานนั่นคือ บ้านของผมเอง “ อ่อ! ผมลืมบอกกับท่านผู้อ่านไปอีกอย่างว่าบ้านผมหลังใหญ่เป็นบ้าน 2 ชั้น เป็นหมู่บ้านการเคหะ พ่อกับแม่ตั้งใจซื้อไว้ให้เป็น มรดกของลูกๆ ” ทำได้ประมาณ1สัปดาห์ก็ต้องหาที่ใหม่เพราะเสียงที่ดังมากของผมและเพื่อนๆแม่จึงเอ็ดเอา และก็ไม่นานอีกเช่นเดิมก็มีรุ่นน้องคนนึงเสนอให้ทำที่บ้านเขา น้องคนนี้ทางบ้านของเขาค่อนข้างมีฐานะร่ำรวย พ่อของน้องเขาเปิดบ้านให้พวกผมอยู่ฟรีๆเกือบ2เดือน พ่อของน้องเขาเลี้ยงข้าวพวกผมทุกคืนหมด วันนึงแล้วประมาณ1000 บาทเลยทีเดียว ซึ่งก็เกรงใจมากแต่ก็ปฏิเสธที่จะรับไม่ได้เลยเพราะทางบ้านน้องเขามีเชื้อสายจีน ตามธรรมเนียมแล้วผู้ใหญ่ให้ของห้ามปฏิเสธ ซึ่งพวกผมลำบากใจมากทีเดียวหลังๆจึงกินข้าวไปก่อน แต่ก็ยังซื้อข้าวรอบดึกมาไว้ให้กลัวพวกผมจะหิวเอา สุดท้ายก็เลี่ยงไม่ได้เลย
 ผมลืมบอกไปอีกอย่าง สมาชิกในวงพวกผมมีอยู่ด้วยกัน 6 คน ด้วยกันใน ขณะนั้น คือ จอย ตั๊ก ต่อ น้องเกว (คนที่ให้ที่ทำงาน) ในขณะที่เคลียงานอยู่ที่นั่นชีวิตของวัยรุ่นคนนึงก็อดคิดไม่ได้เลยว่านี่แหละคือ สวรรค์ผมมีเพื่อน มีคนที่เข้าใจผม เพื่อนๆทีไม่เคยเอาเรื่องฐานะมาพูดเลย เพื่อนแต่ละคนก็มีอะไรดีๆในตัวต่างๆกันไป ( ในช่วงที่ความคิดยังเด็กอยู่ ) ตอนนั้นเองที่ผมไม่รู้เลยว่าผมเด็กแค่ไหน จนกระทั่งสะสางงานทุกอย่าง ทั้งเกรดเฉลี่ย ทั้งความรู้สึกมากมายทั้งทุกข์และสุข งานจิตกรรมสากลผมในช่วงจบผมได้ลอกงานหุ่นนิ่ง และงานจิตกรรมไทยผมได้เลือกลอกงานของ อาจารย์ สุวัฒน์ แสนขัติยะโดยใช้สีน้ำเขียนและตัดเส้นทับลงไปในกระดาษร้อยปอนด์ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามันจะตอบสนองได้เป็นอย่างดี ส่วนงานปั้นผมเลือกปั้นเศียรพระก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองก็พอจะปั้นได้

Entrance

          หลังจากวันนั้นก็หลายสัปดาห์อยู่เงียบมากเพราะไม่มีอะไรทำเรียนจบใหม่ๆ กินแล้วก็นอนอยู่บ้านพอมาถึงเวลาสมัครสอบ ติดอยู่ปัญหาเดียวตอนนั้นคือไม่มีเงินไปสมัครสอบ แต่แล้วข้าพเจ้าก็หามาจนได้ ท่านผู้อ่านที่เคารพคงจะสงสัยว่าผมไปหามาได้ยังไง จะขอกล่าวถึงพฤติกรรมของเด็กคนนึงที่ต้องการดิ้นรนที่จะไปตามความฝันของตัวเองด้วยการที่ผมไปขอแม่ไปสอบที่ราชกระบัง คณะ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ผมอยากเรียนอินทีเรียมาก แม่ก็ปฏิเสธผม ด้วยเหตุนี้ผมจึงไปโกหกญาติทางพ่อ (อาไก่) ว่าขอเงินไปเรียนเรียนซัมเมอร์เพราะผมต้องแก้กิจกรรมเพื่อให้มันจบ อาตัดสินใจอยู่นานเขาก็ตอบตกลง แต่ทว่าเขาก็บอกว่าเดี๋ยวเขาจะพาผมไปจ่ายเอง ผมอึ้งและรนรานอยุ่พักนึง ผมก็ตอบไปว่า “ ครับๆๆ “ และรีบขอตัวแกกลับมาก่อน
แต่ด้วยสำนึกที่ไม่เคยทำผิดอะไรมาก่อนเลย ผมจึงกลับไปเล่าความจริงให้ เขา ฟัง เพียงแค่ผมอยากไปสอบที่กรุงเทพฯ เขาก็ไม่ถือโทษโกดผมเลย (ซึ้งมาก) แต่ถึงอย่างนั้นก็สายเกินไป เพราะที่สถาบันดังกล่าวเขาปิดรับสมัครไปแล้วผมเสียใจมาก แต่เหตุการณ์หลายๆอย่างทำให้ผมคิด “ เราไม่ได้ที่นี้เราก็ไปหาที่อื่นสิ ” ผมจึงตัดสินใจไปสอบออินทีเรียที่ เพาะช่างแทน

สู่มหา นคร ฟู่ฟ่า ดินแดนแห่งทวยเทพ

          ในการเดินทางไปสมัครสอบครั้งนี้ก็ไม่ได้ไปอย่างสบายสักเท่าไหร่เริ่มตั้งแต่เวลา 18.00.
ผมและเพื่อนๆอีก 2 คนรวมผมก็เป็น 3 คน โดยสารผ่านทางรถไฟฟ้าสายอีสานเข้าสู่กรุงเทพฯ ระหว่างทางนี่เองคือความระทึกแบบสุดๆ ผมจะเล่าให้เห็นถึงบรรยากาศที่จินตนาการไว้ก่อนขึ้นรถไฟ (รถไฟฟรี ชั้น 3 ) “รถไฟฟรีนี่มันดีจริงๆรัดทะบานเขาช่วยประชาชนในการเดินทางได้มากเลยทีเดียวทั้งมันคงตื่นเต้นมากแน่ๆเลยนานนานจะได้ขึ้นรถไฟกับเขาสักที ครั้งสุดท้ายที่ขึ้นมันก็นานพอตัวตั้งแต่เด้กเลยมั๊งจนจำไม่ได้แล้วจนครั้งนี้ ” และแล้วเหตุการณ์มันก็พลิกผันจินตนาการที่ฝันเฟื่องไปนั้นพังคลืนลงต่อหน้าต่อตา ก้าวแรกที่เท้าก้าวผ่านขึ้นมาบนรถไฟนี้กับแรงปะทะของสิ่งที่อยู่ตรงหน้านี่ผิดกับที่คิดไว้มาก
                ทั้งผู้คนที่แออัด กลิ่นที่เหม็นไม่รู้ใครเป็นใครความสกปรกโสโครกของโบกี้รถไฟในใจตอนนั้นคิดว่ารัฐบาลไม่คิดจะทำความสะอาดรถไฟเลยรึไงทั้งที่เป็นเส้นทางหนึ่งของการคมนาคมในประเทศนอกเหนือจากการโดยสารทางเครื่องบิน ทางรถประจำทาง รถส่วนตัว ยังถือว่ารถไฟก็เป็นของสาธารณะ แต่ดูเหมือนรัฐบาลมัวไปทำอะไรอยู่ทั้งที่จัดได้ว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่สำหรับสังคมในระดับนึงเลยก็ว่าได้ ยังไม่พอเท่านั้นเหลือที่นั่งเพียงที่เดียวนั่งได้ 3 คนพอดียังไม่ทันหายโกรธรัฐบาลเลย  
“ รถไฟบ้านี่มึงจะจอดทุกสถานีเลยรึไงเนี่ย ” จอดแต่ละทีไม่ว่าแต่มันพ่วงโบกี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆเสียงก็ดังทุกครั้งที่ต่อโบกี้ “เคริ่งๆๆตึ้ง” ทั้งยังที่พนักพิงต่ำกว่าคอคนมากจะเอาคอพักก็พักไม่ได้ สรุปการเดินทางในคืนนั้นไม่ได้นอนทั้งคืน พอเริ่มเข้ากรุงเทพฯ ก็เริ่มเห็นเมืองตอนเช้ารถไฟขบวนนี้เข้ามาทางห้างสรรพสินค้าฟิวพาร์คและเข้ามาเรื่อยๆจนถึงดอนเมือง และผมและเพื่อนก็ได้ลงที่สถานีนี้ ขณะนี้เวลาก็ 8.00. “ พอดีเป๊ะ ”ไม่ขาดไม่เกินเพราะญาติผู้ใหญ่ท่านนึงของเพื่อนที่เดินทางไปด้วยให้ความอนุเคราะห์ให้ที่พักและไปรับจึงต้องลงที่ดอนเมืองแห่งนี้ หลังจากนี้เป็นต้นไปจนถึงบ้านญาติของเพื่อนผมก็จำอะไรไม่ได้อีกเลย หลับตลอดทางจากการเหนื่อยล้าของการนั่งรถไฟขบวนนั้น

วันรับสมัคร

         ตื่นมาวันนี้เวลา 8.00 . วันสุดท้ายของการสมัครญาติของเพื่อนไม่ว่างพาไปส่งเพราะต้องทำมาหากินจึงบอกทางไปเพาะช่างให้พวกผมวันนี้เองที่ผมรู้จักว่ากรุงเทพฯนอกจากจะร้อนแล้วยังมีอากาศที่เหนียวเหนอะหน่ะกว่าต่างจังหวัดหลายเท่า ผมคิดว่าคิดถูกไหมที่มาที่นี่ ผมไม่เห็นอะไรที่จะเหมือนชื่อจังหวัดสักนิดนึง ทั้งผู้คนจำนวนมากที่แข่งขันกัน มันเป็นภาพติดตาจนมาถึงทุกวันนี้ที่มันอึดอัดเหลือเกิน ในใจคิดว่าคนพวกนี้เขาอยู่ได้ยัง เห็นไปถึงความเห็นแก่ตัวของคนในเมืองหลวงนี่หน่ะหรือเมืองแห่งเทพฯมีดีก็แต่ชื่อ พอไปถึงที่สมัครผมเลือกสมัครสอบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์สาขา อินทีเรีย
                การสอบวันแรกเป็นข้อสอบทฤษฎีซึ่งยากเอาการ พอวันที่สองแบ่งเป็น ช่วงเช้าบ่าย
ข้อสอบช่วงเช้า
                เป็นข้อสอบปฎิบัติ ทางเพาะช่างให้วาดภาพใบหน้าหญิงสาวท่านนึงซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใครมาจากไหน ผมก็วาดไปในช่วงเวลานั้นยอมรับเลยว่าผมอ่อนเรื่อง portrait มากสร้างปัญหามากแก่การสอบของผม



ข้อสอบช่วงบ่าย
                ตอนบ่ายเป็นวิชาความถนัด หัวข้อที่ได้ในปีนั้นคือ (ให้ออกแบบร้านขายต้นไม้ที่ทนต่อสภาพแวดล้อมประหยัด โดยประมาณ ) ผมเลือกออกแบบร้านขายกระบองเพร็ชเพราะผมคิดว่าต้นกระบองเพร็ชมันตายยากและทนได้ต่อสภาพของเมืองกรุงเทพฯ แห่งนี้
                พอสอบเสร็จวันนั้นเวลาห้าโมงเย็นผมและเพื่อนๆก็ได้ตกลงกันว่าจะไม่นั่งรถไฟฟรีกลับเป็นอันขาด  “ ทำไมหน่ะหรอคงไม่ต้องอธิบายต่อแล้ว ” พอได้ข้อสรุปดังกล่าวก็รีบโบก Taxxi ไปที่ หมอชิดทันที
ซื้อตั๋วและรอรถจนสี่ทุ่มก็ขึ้นรถกลับมายังอุดรธานี หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ให้หลังผลการ Entrance ก็ออกมาแต่ไปดูไม่ได้เพราะเขาติดไว้ที่บอร์ดในโรงเรียนจะดูก็ต้องขึ้นไปที่กรุงเทพฯอีกแต่โชคดีที่มีรุ่นพี่ของพวกผมศึกษาอยู่ที่นั่นหลายคนจึงโทรไปให้พี่เขาดูให้ผลเป็นไปอย่างที่คาดไว้ไม่มีคนติดเลย “ แต่เดี๋ยว!! เสียงผ่านโทรศัพท์ก็เล็ดลอดมา ไอ้ต่อมึงสอบติดจิตรกรรมไทยหว่ะ ” ฉลองกันอยู่หลายวันแต่ภายในใจลึกๆก็อิจฉาเพื่อนอยู่เหมือนกัน ผมคิดในใจไม่เป็นไรยังมีอีกหลายที่ให้เราเรียนไม่ได้เรียนที่นั่นก็ไม่เห็นตายนิ ผมจึงเลือกมาสอบที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคามแห่งนี้ ผมสอบที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สอบภายใน ซึ่งก็ติดอย่างที่คิดไว้ ในใจเลยคิดว่ามาตรฐานมันต่างกันจริงๆ ตอนนั้นผมชอบสถาปัตเป็นอย่างมาก ผมสามรถบอกได้เลยว่ามาตรฐานของสิ่งของเครื่องใช้มันสูง ยาว กว้าง แค่ไหน สัญลักษณ์ในการเขียนแบบ รวมไปถึงการเขียน CAD คือ โปรแกรมเขียนแบบบ้านของสถาปนิก วิสวะ เขาใช้กัน ในระดับมืออาชีพ
                ในขณะเรียนอยู่ที่ ปวช. ผมทุ่มเทให้กับศาสตร์แห่งสถาปัตยกรรมมาก จนเข้าใจทุกๆอย่างและสิ่งที่ทำให้ผมเห็นว่าทำไมผมถึงสอบไม่ติดที่เพาะช่างคือ จินตนาการในการสร้างสรรค์ด้วยประสบการณ์ของเด็กบ้านนอกที่เล็กน้อยมากถ้าเทียบกับพวกนักเรียนติวที่กรุงเทพฯเพราะผมชอบบ้าน อยากมีบ้านสวยๆ “ มันก็เป็นเพียงความฝันของเด็กคนนึงเท่านั้น” แต่แล้วสถาณการณ์ทางการเงินของครอบครัวที่ไม่มีแรงที่จะส่งไหวผมจึงเลือกที่จะสละสิทธิ์ที่คณะนี้ มาตกลงปลงใจในสิ่งสุดท้ายที่เรียนมาที่พอจะทำได้ คือ วาดรูป ข้าพเจ้าจึงมาสมัครที่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม



ปี 1

         ครั้งแรกกับการมารายงานตัวที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้บรรยากาศน่าเรียนมาก บวกกับความตื่นเต้นต่างๆนาๆของความแปลกใหม่ที่เราไม่เคยพบเจอมาก่อนอาคารพละเป็นที่รายงานตัวคนเยอะมากแต่อากาศต่างกันดีที่มันไม่เหนียวเลย คนอื่นๆรอบข้างก็เช่นกันที่ดูเหมือนจะตื่นเต้นเหมือนๆกัน บ้างก็เก็บอาการไว้ บ้างก็ร้องไห้ที่ต้องจากพ่อกับแม่มาตั้งแต่วันแรกที่มาเรียนที่นี่พ่อกับแม่ก็ไม่เคยมาส่งผมเลยและจนกระทั่งปัจจุบันนี้ล่าสุดแม่มาบ้านยายเลยแวะมาหาผม (วันที่5มีนาคม พ.. 2555) ผมดีใจมาก กลับมาเรื่องของเราในตอนนั้นก่อนการรับน้องที่รุ่นผมต้องโดนผมคิดว่ามันหนักพอสมควรต้องทนแรงกดดันจากรุ่นพี่เป็นประสบการณ์ที่ยากจะลืมจริงๆผมจะไม่ขอเล่ารายละเอียดปลีกย่อยเพราะเรื่องแบบนี้มันอยู่ที่คุณจะนึกถึงไม่ได้หรอกถ้าไม่ผ่านการรับน้อง และนี่ก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับข้าพเจ้า นายอดิเทพ มีชัยเจริญยิ่ง

ด้วยความเคารพผู้อ่านเสมอ สมองบวม
          

วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การวิจารณ์งานศิลปะตามทฤษฎีทางสุนทรีย์ศาสตร์ 4 หลัก

          by สมองบวม


วิจารณ์งาน ภาพเขียน  คนกินมัน The Potato Eater ”           



การวิจารณ์งานภาพศิลปะผ่านทฤษฎีทางศิลปะ
ทฤษฎีการเลียนแบบ…………………………………กับภาพเขียนคนกินมัน The Potato Eater
ทฤษฎีรูปทรง………………………………………...กับภาพเขียนคนกินมัน The Potato Eater
ทฤษฎีการแสดงออกซึ่งความรู้สึก…………………...กับภาพเขียนคนกินมัน The Potato Eater
ทฤษฎีคือความคิด…………………………………...กับภาพเขียนคนกินมัน The Potato Eater
จากการแสวงหาคำตอบจากคำถามที่ว่า ศิลปะคืออะไร? หรือ อะไรคือศิลปะ? ได้นำมาซึ่ง
ทฤษฎีทางศิลปะอันต่างกัน คือ จากความเชื่อของศิลปินและนักสุนทรียศาสตร์บางกลุ่มที่เชื่อว่า
ศิลปะคือสิ่งแทนหรือจำลองแบบวัตถุ เหตุการณ์ หรือบุคคล แต่บางกลุ่มเชื่อว่า ความหมายของ
ศิลปะนั้นก็คือการจัดองค์ประกอบของศิลปะคือการแสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์เท่านั้นเอง
นอกจากนี้บางกลุ่มกลับเชื่อว่าศิลปะคือการแสดงออกซึ่งความคิด ที่นำมาซึ่งการกระตุกกระชากอารมณ์
ของผู้อื่นอย่างเฉียบพลัน ( ข้อความบางส่วนจากหนังสือสุนทรียศาสตร์ในทัศนศิลป์ของ รศ.ดร.ศุภชัย สิงยบุศย์)


“ภาพเขียน คนกินมัน The Potato Eater ปี ค.ศ.1880 ”
เป็นลักษณะการทำงานในยุคแรกของเขาคือ ยุค ( Dutch Period ) มีลักษณะแน่น สีหม่นหมองมีการแสดงออกไปในทางลัทธิเรียลลิสต์ มีแนวโน้มไปในทางมนุษยธรรม เห็นอกเห็นใจคนจน ต้องการสะท้อนภาพชีวิตที่ยากไร้ เป็นช่วงเริ่มต้นในวงการศิลปะอย่างเต็มตัวที่เมืองบอริเนจ เขาวาดภาพอย่างหนัก ภายใต้หมอกควันอันแสนสกปรกของเหมืองถ่านหิน ภายในกระท่อมอันผุพังของเหล่ากรรมกรผู้ยากไร้ สะท้อนภาพชีวิตที่ขัดสน ภาพ “คนกินมัน” ซึ่งเป็นผลงานชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นถึงอาหารของคนงานเหล่านั้น คือ มันฝรั่งต้มอาหารเช้า กลางวัน และเย็น ทุกวัน เดือน ปี แวนโก๊ะรับเอาอิทธิพลความสะเทือนใจต่อสภาพความเป็นอยู่ของคนกลุ่มนี้และแสดงออกของกลุ่มเรียลลิสต์ ซึ่งนิยมกันมากในยุคนั้น






.....................................................................การวิจารณ์ผ่านทฤษฎีการเลียนแบบ

การแสดงออกของทฤษฎีการเลียนแบบที่มีต่อภาพนี้คือ ภาพชีวิตความเป็นอยู่ ของกรรมกรเหมือง การใช้ชีวิตแต่ละวันของการกินมันฝรั่งซ้ำแล้วซ้ำเหล่าทุกวัน ความจริงของคนเหล่านั้นที่แสนขัดสน ในงานใช้สีหม่นหมองทำให้ภาพอึดอัดเป็นอย่างมาก บรรยากาศโดยรวมในภาพบีบคั้นอารมณ์ความรู้สึกว่าชีวิตกรรมกรเหมืองเหล่านี้น่าสงสารเพียงใด ต้องจำนนต่อสภาพที่ตนเป็นอย่างหลีกหนีไม่ได้ต้องใช้ชีวิตด้วยการรอความหวังไปเรื่อยไม่จบสิ้น ทั้งอารมณ์ของตัวละครในรูปแสดงออกต่อกันด้วยความอาทร แววตาที่ยอมต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีข้อยกเว้นแก่คนกลุ่มนี้ ตะเกียงเพียงอันเดียว มีไฟพอที่จะให้รู้สึกถึงความหวังที่น้อยนิดเหลือเกิน บ้างก็อยากจะหลุดพ้น ภาระมากมายที่ผูกพันกับชีวิตพวกเขา แต่อีกมุมนึงกลับรู้สึกถึงความอบอุ่นที่ผู้คนเหล่านี้มีให้กัน มองได้จากสายตาของกรรมกรเหมืองพวกนี้ การแบ่งปัน ความไม่เรื่องมากมีเท่าไหร่ก็กินเท่านั้น
การแสดงออกของการเลียนแบบหลักๆของรูปนี้เป็นการเน้นการลอกสีของบรรยากาศสภาพแวดล้อม สภาพความเป็นอยู่ของคนเหมือง การใช้พู่กันปาดป้ายไปโดยที่ไม่เกี่ยเนียนแสดงออกถึงความหยาบกระด้างของผิวหนัง


..........................................................................การวิจารณ์ผ่านทฤษฎีรูปทรง

รูปทรงในงานทัศนศิลป์คือ การผสานรวมตัวกันของ เส้น สี แสง เงา รูปร่าง รูปทรง และพื้นผิว
สำหรับรูปนี้เด่นในการใช้รูปทรงของสิ่งมีชีวิต คือ คน และรองลงมาเป็นรูปทรงของสิ่งไม่มีชีวิต คือ สิ่งของ
ตัวคนเองมีรูปร่างรูปทรงอิสระมากแต่การเน้นเส้น สี ให้ทึบและหนานี่เอง ทำให้ภาพนี้ตัวคนมีความหยาบของผิวหนัง ซ้ำสีของผิวหนังที่ปาดลงไปเป็น ทีแปรงหยาบๆ ยิ่งตอกย้ำให้รูปนี้ดูหยาบกร้านมากขึ้น
ส่วนมันฝรั่ง และ ข้าวของเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ ถ้วย จาน ถ้วยชา กาน้ำร้อนอื่นๆเขียนออกมาได้ไม่มีชีวิตจริงๆ
เรื่องราวของทฤษฎีนี้เนื้อหาหาสำคัญไม่ การจะซาบซึ้งถึงทฤษฎีนี้ได้นั้นคือ อารมณ์ที่จะต้องเข้าไปสู่โลกอีกโลกนึง ต้องตัดขาดจากโลกภายนอก ดังคำกล่าวของ คลีพ เบลล์ คือ การซาบซึ้งศิลปะไม่จำเป็นต้องอาศัยสิ่งอื่นใดจากชีวิตเราไม่ต้องการความรู้ ความคิด หรือเรื่องราวของชีวิตและไม่มีความเกี่ยวข้องกับอารมณ์ของชีวิต ศิลปะได้พาเราจากโลกแห่งกิจกรรมของมนุษย์สู่โลกของสุนทรียอันสูงสุด

....................................................การวิจารณ์ผ่านทฤษฎีการแสดงออกซึ่งความรู้สึก

อารมณ์ความรู้สึกเป้าหมายในการแสดงออกของความรู้สึก การแสดงออกซึ่งความรู้สึกของศิลปิน ที่มีเป้าหมายแน่นอน คือ การปลุกความรู้สึกแก่ผู้รับให้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับศิลปิน
ศิลปินมีความรู้สึก แสดงความรู้สึกผ่านผลงานศิลปะ ผู้เสพเกิดความรู้สึกจากผลงานศิลปะเหมือนความรู้สึกที่มีในตัวศิลปิน(ตอลสตอย)
สำหรับรูปนี้ศิลปินเองได้เลือกใช้โทนสี หม่นหมอง ให้กับสภาพแวดล้อมของงาน และใช้สีที่ด้านดิบให้แก่เสื้อผ้าและหน้าตาของตัวละครที่หยาบกร้านแห้งแล้ง มีแววตานิดหน่อยพอให้รู้สึกถึงความหวังที่ซ่อนลึกในจิตใจของกรรมกรเหมือง ทั้งหมดทั้งมวลนี้เองก็ได้ผสานกันก่อให้เกิดอารมณ์ ความรู้สึก สะเทือนใจต่อคนที่ดูงาน โดยอารมณ์เศร้าหมอง อึดอัด ความหวังที่ริบหรี่ ความยากจนยากไร้ การที่ต้องจำนนต่อสภาพการณ์ของตนเอง ความรู้สึกเหล่านี้ได้ถูกอัดแน่นอยู่ภายในงานนี้แล้วแต่ใครจะพรรณณาภาพนี้ไปได้อีก

.................................................................................การวิจารณ์ผ่านทฤษฎีคือความคิด

ลักษณะของงานกลุ่มทฤษฎีนี้คือการกระแทก กระตุก กระชาก ขยี้ความรู้สึกของผู้รับรู้อย่างฉับพลันและปริมาณคุณค่าของงานดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับสัดส่วนในปริมาณการกระชากความรู้สึกคนดูที่คาดไม่ถึง
ซึ่งไม่ใช่การแสดงออกซึ่งความรู้สึกธรรมดาอย่างทฤษฎีทั้งสามที่กล่าวมาข้างต้น เพราะการทำงานของกลุ่มนี้ไม่มีลักษณะรูปแบบศิลปะที่ชัดเจนตายตัวอย่างศิลปะทั่วไป หากแต่ศิลปินจะสามารถใช้ลักษณะรูปแบบที่หลากหลายรวมทั้งการผสมผสานข้ามผ่านสื่อศิลปะ และการพลิกผันสัดส่วนและขนาดอย่างคาดไม่ถึงซึ่งทั้งหมดทั้งสิ้นคือการใช้ความคิดอย่างเข้มข้นของศิลปิน และเมื่องานดังกล่าวปรากฏออกมา สิ่งที่สาธารณะชนจะพึงคาดหวังจากงานคือปรากฏการณ์ด้านความคิดที่ไม่คาดว่าจะมีโอกาสได้ประสบ
และในผลงานชิ้นที่หยิบยกมานี้ไม่ได้มีความแปลกใหม่ทางด้านรูปแบบ วิธีการจัดการ เทคนิค จึงทำให้ภาพนี้ล้มเหลวในทฤษฎี


อย่างไรก็ตามคำวิจารณ์และผลตอบรับของผู้ชื่นชมงานศิลปะก็มีความจำเป็นอย่างมากต่อวงการศิลปะเพราะช่วยสร้างความเข้าใจในงานให้แก่ผู้ชมนอกแวดวงมากขึ้นหรือกระทั่งศิลปินเองอาจจะคาดไม่ถึงต่อคำวิจารณ์ก็เป็นได้ ทั้งนี้ยังช่วยให้ศิลปินเองนำไปปรับปรุงแก้ไขในข้อคิดเห็นของนักวิจารณ์ ทั้งที่ดีและไม่ดี สุดท้ายผู้วิจารณ์เองก็ควรเปิดกว้างเรื่องทัศนคติ ไม่เอาความชอบส่วนตัวมาวิจารณ์ควรวิจารณ์อย่างเป็นกลางเสมอ



บทความนี้เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของข้าพเจ้าเท่านั้นไม่มีเจตนาจะกล่าวหาบุคคลหรือกลุ่มงานใดๆถ้าผิดพลาดประการใดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย